เมแทโบโลมิกส์เป็นหนึ่งในระเบียบวิธีวิจัยสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 21 โดยอาศัยหลักการตรวจวิเคราะห์สารเมแทบอไลต์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพจากสิ่งส่งตรวจ ได้แก่ ปัสสาวะ พลาสมา ซีรั่ม อุจจาระ เนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมถึง สารสกัดหยาบจากจากพืช เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของวิถีเมแทบอลิซึมในโรคหรือความผิดปกติต่าง ที่มีคุณลักษณะจำเพาะที่แตกต่างกัน และยังสามารถใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง วัตถุประสงค์ของการศึกษาเมแทโบโลมิกส์เพื่อรวบรวมข้อมูลและปริมาณของสารเมแทบอไลต์ทั้งหมด หรือ เมแทโบโลม (metabolome) โดยศึกษาสารที่สังเคราะห์ภายในเซลล์ (intracellular) และสารที่หลั่งออกมาภายนอกเซลล์ (extracellular) ซึ่งผลิตได้จากวิถีเมแทบอลิซึม (metabolic pathway) เพื่อให้เกิดความเข้าใจแบบองค์รวม (holistic approach) ของระบบชีวภาพที่ตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมและการแสดงออกของพันธุกรรม ซึ่งเมื่อผนวกรวมกับข้อมูลที่ได้จากระเบียบวิธีวิจัยทางโอมิกส์อื่น ๆ จะสามารถนำไปสู่การแพทย์เฉพาะบุคคล (personalized medicine) หรือ การแพทย์แม่นยำ (precision medicine) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ระเบียบวิธีวิจัยนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในประเทศไทยเนื่องจากเป็นต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์มาบูรณาการร่วมกัน 
                ดังนั้นโครงการอบรมระยะสั้นด้านมัลติโอมิกส์ จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญในการเพิ่มนักวิจัยที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในระเบียบวิธีวิจัยดังกล่าว นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงมีความร่วมมือทางการวิจัยที่มากขึ้น และก่อให้เกิดผลงานตีพิมพ์งานวิจัยทางชีววิทยาระบบและการศึกษาข้อมูลแบบแผนเมแทบอลิซึมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น